ตลาดสึกิจิไม่ได้มีแค่ “ปลา” กับ “ซูชิ” …. อย่างที่เคยเล่าไปว่า ตลาดสึกิจิถูกแบ่งพื้นที่เป็นตลาดภายใน และตลาดภายนอก ตลาดภายในมีร้านค้าส่งปลา อาหารทะเล และสินค้าอื่นๆ ประมาณ 680 ร้าน ส่วนตลาดภายนอกมีร้านค้าประมาณ 400 ร้าน รวมแล้วมากกว่า 1,000 ร้าน
ช่วงหลายปีหลังมานี้สึกิจิไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเดินเตร็ดเตร่เข้าไปยังตลาดด้านใน โดยยอมให้เฉพาะนักท่องเที่ยวที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น สาเหตุที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะ นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่หลั่งไหลมาเยี่ยมชมตลาดแห่งนี้มักจะเข้าไปรบกวนการทำงาน ของผู้ปฏิบัติงานและพ่อค้า สังเกตได้จากรถสามล้อขนปลาแบบคนยืนขับที่แล่นไปมาอย่างขวักไขว่ ซึ่งหลายครั้งเกือบที่จะเฉี่ยวชนเอานักท่องเที่ยวที่มัวแต่ถ่ายรูป หรือ มัวแต่เซลฟี
They have no manners. They take a picture without permission.
พวกเขาไม่มีมารยาท พวกเขาถ่ายรูปโดยไม่ได้ขออนุญาต
I want to bring fishes to my shop fast.
ฉันต้องการจะเอาปลาไปส่งที่ร้านของฉันให้เร็วที่สุด
ผมเห็นป้ายข้างต้นตั้งแต่ปี 2553 เมื่อครั้งไปเยือนสึกิจิครั้งแรก และเริ่มเห็นสัญญาณของการที่เหล่านักท่องเที่ยวเข้าไปรบกวนการทำงานของพ่อค้าแม่ขายในตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาผลกระทบของการท่องเที่ยวที่มีต่อวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนนั้นมีอยู่ทุกที่ สิบกว่าปีก่อนเมื่อผมมีโอกาสได้ไปเยือนลี่เจียง (丽江) เมืองท่องเที่ยวสำคัญในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ก็ได้ยินเรื่องราวทำนองนี้เหมือนกันว่า ชนเผ่าน่าซี (纳西族) ซึ่งเป็นชนเผ่าท้องถิ่นต่างอพยพย้ายสำมะโนครัวออกจากเมืองเก่าลี่เจียงแล้ว เพราะผลกระทบจากนักท่องเที่ยว และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการปล่อยบ้านให้ร้านค้าต่างๆ เช่า ซึ่งทำรายได้มากกว่าการเก็บบ้านอยู่อาศัยเอง
ส่วนประเทศไทยเรา ผลกระทบจากการท่องเที่ยวต่อวิถีชีวิตของชุมชนนั้นเกิดขึ้นแทบทุกหัวระแหง ตั้งแต่กรุงเทพ เชียงใหม่ ยันภูเก็ต ตั้งแต่บนดอยสูงของภาคเหนือ ยันเกาะแก่งอันสวยงามในท้องทะเลอันดามัน
แต่เท่าที่ผมสังเกต ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่สามารถรักษาสมดุลระหว่างวิถีชีวิตของชุมชน กับ การส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ค่อนข้างดีพอสมควรประเทศหนึ่ง
ที่ด้านหน้าประตูทางเข้าตลาดชั้นใน เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าชินโต นามิโยเกะ อินาริ (Namiyoke Inari Shrine; (波除神社) ที่มีประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปถึงศตวรรษที่ 17 สมัยกรุงเอะโดะ โดยชื่อของนามิโยเกะในภาษาญี่ปุ่นนั้นมีความเป็นมงคลในหมู่พ่อค้าและชาวประมงเพราะแปลได้ว่า “คุ้มครองจากกระแสคลื่น”
ศาลเจ้านามิโยเกะปัจจุบันนั้นถูกสร้างใหม่ขึ้นใน ค.ศ.1937 หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่คันโตในปี ค.ศ.1923 และในเวลาต่อมากลายเป็นศาลเจ้าประจำอย่างเป็นทางการของคนที่ทำงานอยู่ในตลาดสึกิจิ ภายในนอกจากจะมีที่สิงสถิตย์ของเทพเจ้าให้คนมากราบไหว้และขอพรแล้ว เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูใหญ่เข้าไปฝั่งซ้ายและขวา จะสังเกตเห็นหัวสิงโตจำลองโดยฝั่งซ้ายจะเป็นหัวสิงโตสีแดง (เพศเมีย) และฝั่งขวาเป็นหัวสิงโตสีดำ (เพศผู้) ซึ่งแต่ละหัวมีน้ำหนักเกือบหนึ่งตัน
ผู้คนในตลาดสึกิจิ และชาวบ้านโดยรอบจะจัดเทศกาลเฉลิมฉลองให้ศาลเจ้าแห่งนี้ทุกสามปีในช่วงกลางเดือนมิถุนายนในนาม Tsukiji Lion Dance Festival (獅子祭) โดยครั้งล่าสุดจัดขึ้นในปี 2558 (ค.ศ.2015)
ฝั่งตรงข้ามศาลเจ้านามิโยเกะ เป็นที่ตั้งของร้านขายปลีกและส่งปลาโอแห้ง หรือ คัตสึโอบูชิ (Katsuobushi; 鰹節)ส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในอาหารญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในสองเครื่องปรุงสำคัญของน้ำซุปดาชิ (Dashi; 出汁) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของอาหารญี่ปุ่นมากมายหลายชนิด
ถัดมาอีกหน่อยเป็นร้านขายผักดอง ร้านขายอาหารแห้ง ร้านขายข้าวกล่องเบนโตะ ร้านขายไข่ม้วน ร้านขายมีด ร้านขายตาชั่ง ร้านขายเครื่องครัว ร้านขายไก่ย่างยากิโทริ ร้านขายผักและต้นวาซาบิสด … เมื่อเดินข้ามถนน ลัดเลาะไปตามซอกซอยอีกหน่อย ผมเดินหาร้านขายหอยเชลล์ตากแห้ง หรือที่พ่อครัวแม่ครัวบ้านเราเรียกกันติดปากว่า กัวป๋วย (干贝) หรือ เอ็นหอย ซึ่งราคาในบ้านเราแพงหูฉี่ตกกิโลกรัมละหลายพันบาท โดยในญี่ปุ่นกัวป๋วยคุณภาพดีๆ นั้นถือว่าราคาถูกกว่าบ้านเราเกินครึ่ง
เมื่อได้กังป๋วยถุงใหญ่ในราคาย่อมเยา กับ กุ้งซากุระแห้งอีกสองห่อเล็กๆ ผมเดินถ่ายภาพเก็บความทรงจำครั้งสุดท้าย ก่อนเดินกลับไปยังสถานีรถไฟใต้ดินสึกิจิที่เดิมที่ขึ้นมาเมื่อตอนเช้ามืด
ตะวันเริ่มสายโด่งแล้ว พ่อค้าหลายคนเดินถือกับสะพายกระเป๋าเก็บความเย็นกลับไปยังร้านของตน บ้างใช้รถลากกล่องโฟมบรรจุอาหารทะเลมุ่งไปยังสถานีรถไฟใต้ดินทางเดียวกัน การพบกันครั้งนี้ของผมกับตลาดปลาสึกิจิคงเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าในอนาคตตลาดแห่งนี้จะเปลี่ยนแปลงกลายเป็นพื้นที่ซึ่งใช้ทำอะไร ผมคงหาเวลากลับมาเยี่ยมเยียนมันอีกวันใดวันหนึ่ง
ลาก่อนสึกิจิ ขอบคุณสำหรับอาหารอร่อยๆ และความทรงจำอันงดงาม สักวันหนึ่งเราคงได้พบกันอีก
No Comments so far ↓
Like gas stations in rural Texas after 10 pm, comments are closed.