เมษายน 2557 …
ผมกับคณะเดินทางด้วยเครื่องบินของสายการบินไทยเที่ยวบินที่ ทีจี 648 จากสนามบินสุวรรณภูมิ ถึงสนามบินฟุกุโอกะแต่เช้าตรู่ ก่อนจะกระโดดขึ้นรถไฟจากสถานีฮากาตะ เมืองฟุกุโอกะ ในเที่ยว 09.55น.
รถด่วนชิงกันเซ็นวิ่งตัดผ่านท้องทุ่ง บ้านเรือน และเมืองเล็กๆ บนเกาะคิวชู มุ่ง ไปยังเมืองนางาซากิ ข้อมูลบนรถไฟบอกว่าเราจะถึงเมืองนางาซากิภายในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง ผ่านเมืองซางะ และเมืองอิซาฮายะ แม้จะเมื่อยล้าจากการเดินทางด้วยเที่ยวบินรอบดึก แม้ร่างกายร่ำร้องให้พักผ่อนด้วยการงีบหลับบนรถไฟ แต่ในใจลึกๆ กลับโบยบินไปถึงจุดหมายปลายทางเสียแล้ว
ตอนเด็กๆ ผมจำได้ ฮิโรชิมา-นางาซากิ เป็นชื่อเด็กๆ ทุกคนต้องรู้จัก ในฐานะเมืองสองแห่งที่เป็นเป้าหมายของระเบิดปรมาณูในช่วงสงครามโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหนังสือเรื่อง “ซาดาโกะกับนกกระเรียนพันตัว”
สมัยเรียนอยู่ชั้นประถม ที่โรงเรียนมีการนำหนังสือนอกเวลาเรื่องซาดาโกะกับนกกระเรียนพันตัวมาให้อ่าน ผมจำได้ว่าผมอ่านหนังสือเรื่องนี้อยู่หลายรอบ ไม่นับรวมกับการที่ในชุดหนังสือยังมีเทปคาสเซ็ทแนบมา ซึ่งผมกับพี่ๆ ก็นำมาเปิดฟังกันอีกหลายรอบ ได้ฟังทีไรก็รู้สึกสลดหดหู่แทนเด็กหญิงซาดาโกะ เศร้าใจแทนครอบครัวของเธอ รวมถึงชาวญี่ปุ่นที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ จนในที่สุดก็พลอยจำชื่อเมืองฮิโรชิมา-นางาซากิ ได้ขึ้นใจ
…………………………
นางาซากิ (長崎市) เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดนางาซากิ บนเกาะคิวชู เกาะทางตอนใต้ของญี่ปุ่น
จากลักษณะทางภูมิศาสตร์นางาซากิที่ชื่อในภาษาญี่ปุ่นแปลตรงตัวว่า “คาบสมุทรยาว” ก็ชัดว่าเมืองแห่งนี้เป็นแผ่นดินที่มีน้ำล้อมสามด้าน และอยู่ใกล้กับแผ่นดินใหญ่อันเป็นที่ตั้งของประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน และเกาหลีมาก
ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์เช่นนี้เองที่ทำให้เมื่อเกือบห้าร้อยปีก่อน นางาซากิซึ่งแต่เดิมเป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ พอมีพ่อค้านักเดินเรือชาวโปรตุเกสเข้ามาติดต่อ นางาซากิจึงค่อยๆ พัฒนากลายเป็นเมืองท่า แหล่งค้าขาย และประตูเชื่อมต่อเกาะญี่ปุ่นเข้ากับโลกภายนอกที่สำคัญมากขึ้นทุกทีๆ
ยิ่งในห้วงเวลาที่โจรสลัดญี่ปุ่น หรือ โจรสลัดแคระ ที่ชาวจีนเรียกว่า วอโค่ว (倭寇) ออกอาละวาดในน่านน้ำที่เป็นทางสัญจรของเรือขนถ่ายสินค้าและผู้คนระหว่างญี่ปุ่น เกาหลี และจีน จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทางการญี่ปุ่นกับจีนในสมัยปลายราชวงศ์หมิงย่ำแย่ลง บทบาทของพ่อค้าชาวตะวันตกโดยเฉพาะโปรตุเกสยิ่งเด่นชัดขึ้น และต่อมาพ่อค้ายุโรปก็กลายเป็นตัวกลางในการค้าขายระหว่างญี่ปุ่นกับจีนไปโดยปริยาย
ด้วยอิทธิพลของการเผยแพร่ศาสนาคริสต์เข้ามาในญี่ปุ่น พอโอมุระ สุมิทาดะ ไดเมียว (เจ้าเมือง) ผู้ครองดินแดนในแถบนี้ ถูกมิชชันนารีตะวันตกชักชวนให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ด้วยสถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมหลายๆ ประการ ทำให้ในช่วงปี ค.ศ.1569-1570 สุมิทาดะอนุญาตเปิดให้นางาซากิกลายเป็นท่าเรือสำหรับเรือโปรตุเกสในการจอดพัก และทำการค้าขายได้

ในที่สุดจากหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ นางาซากิก็พัฒนากลายเป็นจุดจอดเรือ และกลายเป็นเมืองท่าสำคัญของเกาะคิวชูในเวลาไม่นานนัก โดยสิ่งที่หลั่งไหลเข้าออกจากเมืองท่าแห่งนี้ไม่ได้มีเพียงสินค้า แต่ยังมีศาสนา ความรู้ วัฒนธรรม เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย อาหารการกินใหม่ๆ เข้ามาด้วย
ยกตัวอย่างเช่น เทมปุระ (Tempura) หรือ อาหารชุบแป้งทอด ของญี่ปุ่นที่ปัจจุบันกลายเป็นอาหารที่ผู้คนทั่วโลกรู้จัก แท้จริงแล้วก็มีต้นตอมาจากมิชชันนารีชาวโปรตุเกสที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาผ่านทางเมืองนางาซากิตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 16 นี้เอง ก่อนที่อาหารชุบแป้งทอดจะได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วเกาะญี่ปุ่น
ผ่านมาจนยุคเอะโดะ หรือ ยุคโทะกุงะวะ ในช่วงศตวรรษที่ 17 ซึ่งโชกุนผู้ปกครองญี่ปุ่นเกิดความขัดแย้งกับการเผยแพร่ศาสนาของมิชชันนารีชาวตะวันตก จนเกิดการปราบปรามชาวคริสเตียนอย่างรุนแรง ประกอบกับอิทธิพลของที่ปรึกษาที่เป็นปราชญ์แห่งลัทธิขงจื๊อ ซึ่งเผยแผ่มาจากประเทศจีน ทำให้ญี่ปุ่นดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวตัวเอง (Isolaitonism) ปิดประเทศไม่ทำการค้าขายกับโลกภายนอก รวมถึงชาวโปรตุเกส เว้นไว้แต่เพียงเมืองนางาซากิที่ราชสำนักญี่ปุ่นอนุญาตให้มีการค้าขายกับชาวจีนและฮอลันดาได้ แต่ให้ย้ายสถานีการค้าของชาวฮอลันดาออกไปยังเกาะเดะจิมะแทน
ด้วยปัจจัยเหล่านี้เองราวสองร้อยปีต่อมา เมื่อญี่ปุ่นผ่านพ้นยุคเอะโดะ ก้าวเข้าสู่ยุคเมจิ (ค.ศ.1868-1912) ซึ่งสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองญี่ปุ่นมีความเปลี่ยนแปลงอย่างสูงจากการฟื้นฟูพระราชอำนาจสมัยเมจิ (Meiji Restoration) ทำให้นางาซากิกลายเป็นท่าเรือที่คึกคักขึ้นมาอีกครั้ง และกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนัก โดยเฉพาะการต่อเรือ ซึ่งต่อเรือบริษัทยักษ์ใหญ่ในช่วงนั้นก็คือบริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสทรีส์ ซึ่งกลายเป็นมาผู้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์หลักให้กับกองทัพแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น
มีการประเมินกันว่าในช่วงปี ค.ศ.1945 ก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง แรงงานกว่าร้อยละ 90 ของเมืองนางาซากิ ทำงานให้กับโรงงานอุตสาหกรรมของมิตซูบิชิและบริษัทในเครือ
…………………………
11.25น. ผมยืนรับแดดอ่อนๆ บริเวณหน้าสถานีรถไฟนางาซากิ พวกเรายืดเส้นยืดสายกันอยู่สักพัก ก่อนเรียกรถแท็กซี่เพื่อมุ่งหน้าไปยังที่พัก
No Comments so far ↓
Like gas stations in rural Texas after 10 pm, comments are closed.