“เนื้อโกเบ” … แค่ได้ยินชื่อก็รู้สึกว่าน้ำลายสอ แต่พอตรวจสอบเงินในกระเป๋าที่มีอยู่ไม่กี่ร้อย ก็รู้เลยว่าวาสนา ณ นาทีนี้ไม่น่าจะพอเพียง
ก่อนจะไปลิ้มลองเนื้อวัวระดับพรีเมียม ชนิดหนึ่งที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกจากญี่ปุ่น เราไปดูกันก่อนดีกว่าว่า จริงๆ แล้ว “เนื้อโกเบ” นั้น มีที่มาที่ไปอย่างไรกันแน่
ปัจจุบันญี่ปุ่นมีประชากรวัวประมาณ 4 ล้านตัว โดยหนึ่งในสามของวัวเหล่านี้เป็นโคนม ขณะที่วัวอีก 2.7 ล้านนั้นเป็นโคเนื้อ โดยใน 2 ใน 3 โคเนื้อเหล่านี้ถูกจัดให้เป็น วากิว (和牛)
“วากิว” เป็นภาษาญี่ปุ่นมาจากการนำเอา 2 คำมารวมกันคือ “วะ หรือ วา (和)” หมายความถึงประเทศญี่ปุ่น และ “กิว (牛)” แปลว่าเนื้อวัว ดังนั้นคำว่า “วากิว” จึงหมายถึงเนื้อวัวที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น (แค่นั้นเองจริงๆ) ซึ่งในบรรดาวัวที่เลี้ยงในประเทศ จะมีวัวอยู่ 4 สายพันธุ์ที่ถูกเรียกว่าวัวญี่ปุ่นสายพันธุ์ใหม่ ได้แก่ พันธุ์ญี่ปุ่นขนดำ (Japanese Black) พันธุ์ญี่ปุ่นขนน้ำตาล (Japanese Brown) พันธุ์ญี่ปุ่นเขาสั้น (Japanese Shorthorn) และพันธุ์ญี่ปุ่นไม่มีเขา (Japanese Polled)
สำหรับ “เนื้อโกเบ (神户牛)” คือ เนื้อวัวจากเมืองทาจิมา จังหวัดเฮียวโงะ (เมืองโกเบก็อยู่ในเขตจังหวัดเฮียวโงะ) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพัฒนามาจากเลี้ยงดูวัวทาจิมา สายพันธุ์ญี่ปุ่นขนดำ (Kuroge washu หรือ Japanese Black) ซึ่งแป็นวัวสายพันธุ์ใหม่ โดยเนื้อของวัวสายพันธุ์ญี่ปุ่นขนดำจะมีฟองไขมันเม็ดละเอียดแทรกซึมอยู่ในอณูเนื้อแดงทำให้เนื้อมีความนุ่ม อีกทั้งฟองไขมันก็มีความหอมหวาน จัดเป็นวัวเนื้อสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและในต่างแดน
ในเชิงคุณภาพเนื้อวัวโกเบ จะต้องเป็นเนื้อในระดับเกรด A4 หรือ B4 ขึ้นไป และมีอัตราฟองไขมัน (BMS) ตั้งแต่ระดับ 6 ขึ้นไปเท่านั้น ทั้งนี้ วัวโกเบมีจุดเด่นคือ มีอัตราการให้เนื้อสูง พื้นที่หน้าตัดของเนื้อสันมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ เนื้อเยื่อเป็นเส้นใยที่ละเอียด ฟองไขมันเล็ก คุณภาพดี ละลายในอุณหภูมิต่ำ จึงมีความนุ่มและรสชาติดีเป็นพิเศษกว่าวัวชนิดอื่นๆ

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเนื้อโกเบชาวญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์กับผู้ดำเนินรายการ Eating Japan เกี่ยวกับเนื้อวัวโกเบว่า จะเป็นเนื้อที่มาจากวัวตัวผู้ หรือวัวตัวเมียก็ได้ แต่ถ้าเป็นตัวผู้ต้องเป็นวัวที่ทำหมันแล้ว ส่วนวัวตัวเมียก็ต้องเป็นวัวบริสุทธิ์ หรือ วัวสาวที่มีอายุต่ำกว่าปีและไม่เคยตกลูกมาก่อน
ด้วยความพิถีพิถันด้านสายพันธุ์ การฟูมฟัก และการคัดแล้วคัดอีกเช่นนี้ทำให้ Larry Olmsted นักเขียนของฟอร์บส์ ผู้เขียนเรื่อง Food’s Biggest Scam: The Great Kobe Beef Lie เคยให้ข้อมูลไว้ว่า จริงๆ แล้ว แต่ละปีมีวัวญี่ปุ่นเพียงแค่สามพันกว่าตัวเท่านั้นที่ผ่านมาตรฐานในการถูกจัดว่าเป็น “เนื้อโกเบ” และเนื้อโกเบส่วนใหญ่หรือราวร้อยละ 90 ถูกจำหน่ายเพื่อบริโภคในประเทศญี่ปุ่น โดยที่เหลืออีกร้อยละ 10 ถูกส่งออกนอกญี่ปุ่น (ประเทศไทยก็ติดอยู่ในลิสต์ด้วยนะ) ดังนั้นเนื้อโกเบจึงมีราคาแพงหูฉี่
ดังนั้น ด้วยความจำกัดจำเขี่ยของกำลังการผลิต ทำให้ร้านอาหารนอกญี่ปุ่นจำนวนมากที่อ้างว่าขาย “เนื้อโกเบ” นั้นจึงเป็นเรื่องขี้ฮกทั้งเพ!

ข้อมูลปี 2560 (ค.ศ.2017) ราคาเมนูสเต็กเนื้อโกเบในภัตตาคารโมริยะ สาขาซันโนมิยะ ภัตตาคารที่มีชื่อเสียงลำดับต้นๆ ของการเสิร์ฟเนื้อโกเบ ในเมืองโกเบ จ.เฮียวโงะ เริ่มต้นที่ราว 9,200 เยน หรือเกือบ 3,000 บาท (สำหรับเนื้อโกเบเกรด A4 น้ำหนัก 130 กรัม) และสูงถึง 16,000 เยน หรือราว 5,000 บาท (สำหรับเนื้อโกเบเกรด A5 ชั้นเยี่ยม น้ำหนัก 130 กรัม)
แล้วคนมีเงินหลักร้อยอย่างผมจะกินเนื้อโกเบยังไง?
เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสเดินทางไปประชุมที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คืนวันหนึ่งหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในการงาน ผมจึงเดินออกจากโรงแรมไปยังร้านซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในย่านรปปงหงิเพื่อหาของฝากให้กับตัวเองและคนที่บ้าน ซึ่งหนึ่งในสินค้าลำดับต้นๆ หนีไม่พ้นยา เครื่องสำอาง และวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ขนม และของกินเล่นต่างๆ
ระหว่างที่เดินเล่นในซูเปอร์มาร์เก็ตผมก็ไปเจอเจ้า แกงกะหรี่เนื้อโกเบ (Kobe Beef Curry) เข้า หยิบกล่องขึ้นมาพลิกซ้ายพลิกขวา พลิกหน้าพลิกหลัง ใช้ทักษะเดาตัวคันจิที่คล้ายอักษรภาษาจีนได้ความว่าเป็นแกงกะหรี่เนื้อโกเบสำเร็จรูป เผ็ดระดับ 4 น้ำหนัก 180 กรัม สำหรับรับประทานหนึ่งคน วิธีรับประทานก็ง่ายแสนง่ายคือ แกะกล่อง เอาเข้าไมโครเวฟ ไม่เกิน 2 นาทีก็เอามาราดข้าวรับประทานได้แบบชิลๆ
พอเหลือบไปเจอป้ายราคาก็ยิ่งเร้าใจเข้าไปใหญ่เพราะอยู่ในช่วงจัดโปรโมชัน ราคารวมภาษี แค่ 624 เยน หรือ ประมาณ 200 บาทเท่านั้น … เห็นดังนั้นจะช้าอยู่ไย หยิบลงตะกร้าทันทีทันใด
หลังจากกลับมาเมืองไทยได้พักใหญ่ เช้าวันหนึ่ง ผมจึงได้ฤกษ์หยิบเจ้า “แกงกะหรี่เนื้อโกเบ” มาแกะห่อ หวังจะลิ้มลองให้หนำใจ ซึ่งผลก็เป็นดังนี้ครับ
ลงมือฉีกกล่องตามภาพคำแนะนำบนกล่องคือ ฉีกกลาง แล้วเอาเข้าไมโครเวฟได้ทันที ทั้งนี้หากใช้ไฟ 500W ก็ใช้เวลา 2 นาที, ใช้ไฟ 600W ก็ 1 นาที 40 วินาที หรือ ใช้ไฟแรง 700W ก็แค่ 1 นาที 20 วินาทีก็พอ
พอเอาเจ้ากล่องแกงกะหรี่เข้าไมโครเวฟ ก็หันไปตักข้าวหอมมะลิไทยเรานี่แหละ (ลืมหุงข้าวญี่ปุ่น) และเปิดตู้เย็นหยิบนัตโตะ (ถั่วเน่า) มาเตรียมคลุกเคล้าเตรียมเป็นกับแกล้มเสริม แป๊บเดียวไมโครเวฟก็ดัง
ฉีกกล่องกระดาษ หยิบเอาถุงสีเหลืองข้างในออกมาฉีกซองเอาราดใส่จานข้าว ก็ได้กลิ่นหอมแกงกะหรี่ ส่วนเนื้อแกงที่ไหลออกมาก็เป็นสีน้ำตาลเข้มๆ เหมือนกับแกงกะหรี่สำเร็จรูปส่วนใหญ่ โดยพอไปค้นดูส่วนประกอบของแกงกะหรี่ซองนี้ก็ได้ความว่า นอกจากจะมีเนื้อโกเบแล้ว ยังประกอบไปด้วยหัวหอม กล้วย กระเทียม มะเขือเทศบด เป็นต้นอีกด้วย
ใช้ช้อนตักเนื้อแกงผสมกับข้าวสวยร้อนๆ กลิ่นเนื้อก็กระโดดมาแตะจมูก กินคำแรกถือว่า รสชาติกลมกล่อมทีเดียว ขณะที่พอควานหาเนื้อโกเบที่เป็นก้อนๆ เล็กๆ ก็พอจะมีอยู่ 3-4 ชิ้น (ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อติดมัน คาดว่าน้ำหนักรวมน่าจะประมาณ 10 กรัม 555) พอตักอีกคำ คราวนี้เป็น ข้าว-แกงเนื้อโกเบ-นัตโตะ ก็เข้ากันใช้ได้ทีเดียว
สรุปโดยรวมแล้วข้าวแกงกะหรี่เนื้อโกเบจานนี้รสชาติไม่เลวเลยทีเดียว พอเห็นเนื้อเห็นมันวัวอยู่บ้าง ส่วนผสมอื่นๆ ก็เข้ากันดีกับเนื้อวัว แต่รสชาติความเผ็ดระดับ 4 สำหรับคนไทยอย่างเราถือว่า “ไม่เผ็ด” หรืออาจถึงขั้น “จืด” เลยทีเดียว ทั้งนี้ทั้งนั้น แลกกับเงิน 200 บาท กับประสบการณ์ได้กินเนื้อโกเบ (แม้จะเพียงไม่กี่กรัม) ก็ต้องบอกว่า … คนรักเนื้อต้องลองครับ ^_^
ข้อมูลอ้างอิง :
- 5 สุดยอด “เนื้อวากิว” แดนซามูไร ที่คนรักเนื้อไม่ควรพลาด!!; http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9580000125494
- ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเนื้อวัวญี่ปุ่น (Wagyu); http://www.oumiushi.com/th/about/japanese_beef.html
- กว่าจะมาเป็นเนื้อวัวที่แพงที่สุดในโลก; http://www.j-campus.com/article/view.php?id=1003
- All About Kobe Beef; http://www.kobe-niku.jp
- Begin Japanology – Wagyu Beef; https://www.youtube.com/watch?v=esrCzeZxBT8
- Eating Japan – Kobe Beef, Hyogo Prefecture; https://www.youtube.com/watch?v=z3L7ReBY4DU
- The New Truth About Kobe Beef: Scarce Amounts Now Available In The U.S., But Not In Europe by Larry Olmsted; http://www.forbes.com/sites/larryolmsted/2014/01/07/the-new-truth-about-kobe-beef-2/#7d177b1b9763
No Comments so far ↓
Like gas stations in rural Texas after 10 pm, comments are closed.