แล้วเทศกาลปีใหม่ของชาวจีน หรือ ตรุษจีนก็เวียนมาอีกครั้ง …
เทศกาลตรุษจีน สำหรับชาวจีนทั้งมวลก็เหมือนเทศกาลคริสต์มาสของชาวคริสต์ หรือ เทศกาลสงกรานต์ของชาวไทย เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่คนในครอบครัวจะได้มาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ได้เฉลิมฉลอง ได้มอบความห่วงใย ได้มอบความรัก แลกเปลี่ยนความทุกข์-ความสุขแก่กันและกัน
อย่างไรก็ตาม ด้วยพัฒนาการและการขยายตัวของสังคมเมืองที่ครอบคลุมกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ ทั่วทั้งโลกและทั่วแผ่นดินจีน ทำให้คนหนุ่ม-คนสาว จำต้องเดินทางจากบ้านเกิด มาทำงานในเมืองใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ทุกครั้งที่ถึงเทศกาลสำคัญคนจีนนับพันล้านคนต้องเดินทางกลับบ้าน ทั้งนี้การไปและกลับบ้านในเทศกาลตรุษจีนของคนพันกว่าล้านคนนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก โดยมีคนเคยเปรียบเทียบไว้ว่า การเดินทางไปกลับบ้านของชาวจีนในช่วงตรุษจีนนั้นคือ การอพยพย้ายถิ่นประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ (Largest annual human migration in the world) เลยทีเดียว
การเดินทางทั้งก่อนและหลังเทศกาลตรุษจีนของชาวจีนนั้น เขามีศัพท์แสงเฉพาะเรียกว่า ชุนยุ่น (春运; โดย “ชุน” ก็หมายถึงฤดูใบไม้ผลิ หรือ เทศกาลตรุษจีน ส่วน “ยุ่น” ก็หมายถึงการเคลื่อนย้าย) ซึ่งกินเวลาประมาณ 40 วัน
สำหรับ ปี 2558 (ค.ศ.2015) นี้ “ชุนยุ่น” กินเวลาตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ถึง 15 มีนาคม ทั้งนี้หนึ่งพาหนะหลักของชาวจีนที่ใช้ในการเดินทางกลับบ้านกลับช่องก็หนีไม่พ้นสิ่งที่เรียกว่า รถไฟ โดยในปีนี้มีการประเมินกันว่ารถไฟจีนจะต้องรองรับผู้โดยสารถึง 295 ล้านเที่ยว เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้วราวร้อยละ 10 ขณะที่การจับจองตั๋วรถไฟล่วงหน้านั้นยิ่งต้องทำก่อนล่วงหน้านานนับเดือน [1]
เมื่อได้เห็นภาพชาวจีนต่อคิว เบียดเสียดกันขึ้นรถไฟแล้ว ผมก็อดที่จะย้อนรำลึกถึงประสบการณ์ในอดีต 10 กว่าปีก่อน เมื่อตอนผมอยู่เมืองจีน เมื่อครั้งที่จีนยังไม่มีรถไฟความเร็วสูง เมื่อครั้งที่จีนยังไม่เป็นมหาอำนาจด้านรางเหล็กที่วางแผนจะขยับขยายเครือข่ายทางรถไฟของตัวเองออกไปทั่วทวีปเอเชีย และทั่วโลก
กาลครั้งหนึ่ง ในวันที่รถไฟจีนยังวิ่งช้า (แม้จะไม่ช้าเหมือนรถไฟไทยในปัจจุบัน) แต่ก็ช้าพอที่จะทำให้ผมเห็นวิถีชีวิต เห็นความเปลี่ยนแปลงของทิวทัศน์ เห็นหน้าเห็นตาและความรู้สึกของผู้คนทั้งบนรถไฟ และริมทางรถไฟ … กาลครั้งหนึ่งที่ผมว่านั้นถูกบันทึกไว้ในความทรงจำและในภาพถ่ายเหล่านี้
อ้างอิง :
[1] 2015年春运启动 中国将有超28亿人次出行(http://news.xinhuanet.com/2015-02/04/c_1114248776.htm)
No Comments so far ↓
Like gas stations in rural Texas after 10 pm, comments are closed.