
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรด้วยพระโรคไข้ป่าอันเนื่องมาจากการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ต.หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนเหลือที่กำลังแพทย์หลวงจะเยียวยาพระอาการแล้วก็ทรงมีรับสั่งให้เจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์เข้าเฝ้าเพื่อทรงมีพระราชดำรัสสั่งเป็นครั้งสุดท้ายว่า
“ขอท่านเจ้าคุณได้ดูแลรักษาพระราชโอรสของฉันผู้จะสืบสันตติวงศ์ต่อไปให้ดีด้วย การใดที่ควรไม่ควรขอให้ช่วยตักเตือนและว่าราชการแทนไปจนกว่าจะถึงเวลาอันควร”
เมื่อเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ได้ถวายสัตย์ปฏิญานเบื้องพระพักตร์แล้วถวายบังคมลา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ให้อาลักษณ์เข้าไปจดคำขอขมากรรมต่อพระรัตนตรัยและปัจฉิมโอวาทเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นได้ทรงบรรทมหลับพระเนตรในลักษณะการเข้าฌานแล้วสิ้นสุดอัสสาสะปัสสาสะลงแต่บัดนั้น

เจ้าชายจุฬาลงกรณ์สยามมกุฏราชกุมารได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นผู้สืบสันตติวงศ์เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๑๑ พระชนม์มายุได้ ๑๕ พระชันษาในขณะที่ก็ทรงประชวรด้วยพระโรคไข้ป่าดุจเดียวกับสมเด็จพระบรมชนก พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ได้แต่เพียงในพระนาม โดยมีเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)ว่าราชการต่างพระเนตรพระกรรณ
เมื่อทรงหายจากพระอาการประชวรแล้วก็เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการกับฝรั่งที่เป็นครูสอนพิเศษที่สมเด็จพระบรมชนกทรงจ้างมาเพื่อถวายพระอักษรโดยเฉพาะ
ทรงเป็นยุวกษัตริย์ที่ต้องอยู่ภายใต้ความกดดันหลายด้าน ไหนจะต้องระวังพระองค์เองเพราะในขณะที่มีคนรักก็มีคนชัง และยังต้องระวังพระองค์ในข้อวัตรปฏิบัติในฐานะของพระผู้ที่เป็นเจ้าชีวิตของคนทั้งประเทศ
นอกจากระเบียบประเพณีและกฏมณเฑียรบาลจะตีกรอบไว้แล้ว ยังจะต้องทรงเรียนรู้ถึงเรื่องการปกครองและการบริหารงานบ้านเมืองไปทีละน้อยๆโดยพระวิริยะอุตสาหะอย่างเต็มกำลัง
ระหว่างที่ยุวกษัตริย์ทรงเล่าเรียนอักษรศาสตร์กับพระอาจารย์ที่เป็นชาวตะวันตกนั้นได้ทรงซักถามถึงความคิดเห็นที่ชาวตะวันตกมีต่อประเทศสยามและชาวสยาม ครูฝรั่งได้กราบทูลว่า
“ประเทศสยามนั้นชาวตะวันตกเรียกว่าประเทศด้อยพัฒนา เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน มีที่ดินและทรัพยากรมากแต่ไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ ความเจริญทั้งหลายในโลกตะวันตกไม่เคยเข้ามาถึงประเทศสยาม
ระบบศักดินาขุนนางของสยามยังคงล้าสมัย ขุนนางมีข้าทาสบริวารมากมาย มีแต่คอรัปชั่น การกอบโกยผลประโยชน์ของขุนนางที่แบ่งกันเป็นส่วนๆ ความเจริญส่วนใหญ่จึงอยู่แต่ในพระบรมมหาราชวังและในบ้านของบรรดาขุนนาง คนในชนบทไม่เคยได้รับการศึกษามีแต่ถูกกดขี่ข่มเหงอยู่ตลอดมา
การเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ยังคงมีการหมอบคลาน มองไปทางใดในยามค่ำคืนมีแต่ความมืด ถนนหนทางก็ไม่มี มีแต่ไต้และโคม กฏหมายก็มิได้ทันสมัย ชาวตะวันตกจึงมองเห็นว่าชาวสยามคือคนป่าที่ยังไม่ได้พัฒนา”
เมื่อทรงได้ฟังความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาจากพระอาจารย์ชาวตะวันตกแล้วก็ทรงครุ่นคิดถึงวิธีการที่จะทำให้ประเทศสยามได้รับการยอมรับจากนานาอารยะประเทศในสมาคมโลก
ดังนั้นเมื่อทรงเสด็จขึ้นครองราชย์อย่างแท้จริง(เป็นครั้งที่สองเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๖)แล้ว
สิ่งแรกที่พระราชทานแก่ขุนนางข้าราชการและทูตานุทูตต่างประเทศคือ ทรงประกาศเลิกประเพณีการหมอบเฝ้าทั้งหมด ให้เข้าเฝ้าได้ด้วยการยืนเฝ้าและนั่งเก้าอี้ ยกเว้นในกรณีการถวายราชกิจอย่างเป็นทางการตอนออกท้องพระโรงจึงจะมีการกราบถวายบังคมแล้วเข้านั่งในที่นั่งเฝ้าต่อไป
บรรดาทูตานุทูตและชาวต่างประเทศต่างมีความยินดีและเขียนสดุดีในพระราชวินิจฉัยให้ยกเลิกการหมอบเฝ้ากันอย่างขนานใหญ่
พระองค์เองก็ได้ทรงเล่าเรียนภาษาอังกฤษอย่างเอาเป็นเอาตายและสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีเท่ากับเจ้าของภาษาเป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวต่างชาติและเมื่อทรงเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกนั้น พระปรีชาสามารถในด้านภาษาต่างประเทศ(กับทั้งทรงเข้าใจวิธีคิดวิธีจัดการของชาวต่างประเทศอย่างลึกซึ้ง)จึงเป็นที่ยอมรับของชาวตะวันตกอย่างแท้จริง
ทรงว่าจ้างชาวต่างประเทศโดยมิจำกัดเชื้อชาติศาสนาให้เข้าทำงานในกิจการราชการต่างๆเช่นกิจการตำรวจหลวง และพลตระเวน(ตำรวจภายนอกพระราชฐาน)
ทรงปรับปรุงกฏหมายว่าด้วยลักษณะอาญาและแพ่งให้ทันสมัยขึ้น ตราพระราชบัญญัติการพิจารณาความอาญาและการศาลให้เป็นระบบแบบเดียวกับต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะในเวลานั้นบรรดากงสุลของประเทศต่างๆไม่ยอมขึ้นศาลไทยโดยตั้งข้อรังเกียจเรื่องแนวทางการพิจารณาคดีและระบบการสอบสวนผู้ต้องหาที่เรียกว่าจารีตนครบาล อันได้แก่การลงทัณฑ์ทรมานแก่นักโทษเพื่อให้สารภาพด้วยวิธีการอันทารุณเช่น ตอกเล็บ บีบขมับ เป็นต้น เมื่อเกิดกรณีพิพาทระหว่างชาวต่างชาติกับชาวไทย การพิจารณาโทษจะต้องไปพิจารณากันในศาลกงศุลของชาตินั้นๆ ทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบมาโดยตลอด ในที่สุดก็ทรงโปรดเกล้าให้ยกเลิกจารีตนครบาลอย่างสิ้นเชิงและปรับขบวนการสอบสวนให้เป็นระบบสากลนิยม เพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากชาวต่างชาติยอมมาขึ้นศาลไทยเมื่อถึงคราวที่ต้องมีการพิจารณาคดีกับคนสยาม
พระราชโอรสทุกพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงส่งเสด็จไปเรียนวิชาการในประเทศยุโรปในสาขาต่างๆเช่นการแพทย์ การทหาร การวิศวกรรม ทรงส่งไปทั้งอังกฤษ เยอรมัน และรัสเซีย เพื่อเล่าเรียนวิชาการแล้วนำกลับมาใช้งานในราชการบ้านเมือง พระราชโอรสของพระองค์เมื่อเสด็จกลับมาได้สร้างความเจริญให้แก่ประเทศชาติเป็นอันมาก
ไม่เพียงแต่เท่านั้น พระองค์ยังได้ทรงขยายการศึกษาออกไปนอกพระบรมมหาราชวังให้ประชาชนทั้งหลายได้มีโอกาสเล่าเรียนเขียนอ่านศึกษาอย่างเป็นระบบ มิต้องไปขอเรียนจากบรรดาพระในวัดเหมือนเช่นที่เคยมีมาในอดีต โดยตั้งโรงเรียนแห่งแรกขึ้นที่พระตำหนักสวนกุหลาบ ให้การศึกษาแก่เจ้านายในวัง ทรงมีพระราชดำรัสแสดงให้เห็นถึงน้ำพระหฤทัยห่วงใยในการศึกษาของบรรดาลูกขุนนางและลูกราษฎรธรรมดาว่า
“เมื่อได้กล่าวถึงโรงเรียนนี้ว่าจะเป็นการสงเคราะห์แด่ตระกูลเจ้านายดังนี้ใช่ว่าจะลืมตระกูลข้าราชการและราษฎรเสียเมื่อไร โรงเรียนนี้ที่มีอยู่แล้วและที่จะตั้งขึ้นต่อไปในภายหน้า ได้คิดจัดการโดยอุตส่าห์เต็มกำลังที่จะให้เป็นการเรียบร้อยพร้อมเพรียงเหมือนกับที่โรงเรียนนี้และคิดจะให้แพร่หลายออกไปโดยกว้างขวาง มีคนที่ได้เรียนมากกว่าแต่ก่อน ทั้งจะมีโรงเรียนวิชาการชั้นสูงขึ้นไปอีก ซึ่งได้กำลังคิดจัดอยู่บัดนี้
เจ้านายราชตระกูลตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้น ลงไปถึงราษฎรที่ต่ำสุด จะให้มีโอกาสได้เล่าเรียนเสมอกันไม่ว่าเจ้าไม่ว่าไพร่ เพราะฉะนั้นจึงขอบอกได้ว่าการเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้จะเป็นข้อสำคัญที่หนึ่ง ซึ่งฉันจะอุตส่าห์จัดให้เจริญขึ้นให้จงได้”
Tag: พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ต่างทรงมีพระราชประสงค์ให้ประเทศไทย
เป็นประเทศประชาธิปไตยแต่เนื่องด้วยชาวไทย การศึกษาไม่สูงนัก
จึงทรงเกรงว่า เมื่อเปลี่ยนการปกครองแล้ว
แทนที่จะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง
กลับจะเป็นโทษแทนดังนั้น ทั้งสองพระองค์ จึงได้วางรากฐานการศึกษา
และปรับปรุงระบบการศึกษาให้เข้มแข็ง
เพื่อปูพื้นฐานระบอบประชาธิปไตย
เสียดาย … ที่ประเทศไทยชิงสุกก่อนห่าม
จึงได้แต่เพียงประชาธิปไตย wanna be
…
^_^