ครั้งหนึ่งในชีวิตสถานที่ที่ต้องไป “พุทธคยา” ตอนแรก
ทริปสั้นๆของผมกับการเดินทางไปประเทศอินเดียเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี
จุดมุ่งหมายสำหรับการเดินทางไปอินเดียในครั้งนี้ คือ ร่วมเดินทางไปทอดผ้าป่ามหากุศลเพื่อสร้างถนนเข้าสระมุจลินท์ บวงสรวงองค์พญามุจลินทร์นาคราช และยังได้ร่วมประกอบพิธีถวายไม้ค้ำกิ่งต้นศรีมหาโพธิ์ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นโพธิ์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้
การเดินทางของผมเริ่มต้นจากสนามบินดอนเมืองในเครื่องบินแบบเช่าเหมาลำมีผู้ร่วมเดินทางไปทั้งหมด 173 คน โดยในขณะของผมมีพระสงฆ์ร่วมเดินทางไปด้วย 60 รูป
ไฟล์ทของคณะผมออกเดินทางในช่วงเช้าเวลาประมาณ 7 นาฬิกา ก่อนจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 50 นาทีเพื่อเดินทางมุ่งตรงสู่สนามบินคยา เมืองที่เป็นสัญลักษณ์ของ 1 ใน 4 สถานที่สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา นั้นคือ สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
เราเดินทางมาถึงสนามบินคยาตามกำหนดเวลา ใช้เวลาไม่นานสำหรับการตรวจคนเข้าเมืองเนื่องจากไฟล์ทเราเป็นไฟล์ทเหมาลำจึงมีเพียงคณะเราในช่วงเวลาดังกล่าว สัมภาระจำนวนมากที่ถูกจัดมาสำหรับการร่วมประกอบพิธีต่างๆ ของคณะเราถูกตรวจอย่างเคร่งครัดจากเจ้าหน้าของสนามบิน
ตามเวลาในประเทศอินเดียที่ช้ากว่าเมืองไทย 1 ชั่วโมง 30 นาที เราถึงสนามบินคยาเวลา 10:30 น. ก่อนจะออกเดินทางต่อไปยังวัดไทยพุทธคยา อินเดีย ที่ตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ 15-20 นาทีสำหรับการเดินทางโดยรถยนต์
ที่วัดไทยพุทธคยา มีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากที่เดินทางมาที่นี่ พะสงฆ์ แม่ชี ทั้งที่จำพรรษาอยู่ที่วัด และที่เดินทางมาสักการะมหาเจดีย์พุทธคยา
วัดไทยพุทธคยา ถูกแยกออกเป็นส่วนๆในบริเวณพื้นที่เดียวกันได้อย่างลงตัว ด้านหน้าหลังจากผ่านประตูทางเข้าจะเป็นร้านอาหาร “ตักบาตร” บริการสำหรับประชาชนที่เดินทางมาที่วัดไทยโดยรายได้จากค่าอาหารและเครื่องดื่มทางวัดจะนำไปสนับสนุนโรงพยาบาลพระพุทธเจ้า
ติดกับร้านอาหารด้านหน้า เป็นอาคารโรงพยาบาลพระพุทธเจ้า ซึ่งเปิดสำหรับรักษาพระภิกษ์สงฆ์ แม่ชี ร่วมถึงประชาชนที่เดินทางมายังพุทธคยา และยังเปิดให้บริการกับประชาชนในท้องที่อีกด้วย
ถัดจากโรงพยาบาลจะเป็นเรือน “อู่น้ำ” ที่เหมือนจะมีพระสงฆ์ แม่ชี และคนทั่วไปที่เดินทางมายังพุทธคยาจะมานั่งอยู่มากที่สุด เพราะเป็นเหมือนร้านกาแฟ เครื่องดื่ม ร้านขายของเล็กๆ บริการให้กับทุกคนที่เดินทางมาที่นี่และยังมีบริการ WIFI ฟรีสำหรับผู้มาเยือนทุกท่าน
ถัดไปจะเป็นอาคารสำหรับเรื่องการรับบริจาคสิ่งของ เงิน เพื่อเป็นทุนในการพัฒนา จัดสร้างอาคาร และกิจกรรมต่างๆที่เป็นประโยชน์ฯลฯ
โดยด้านหน้าของอาคารที่เรียงตามทางเข้าไปยังด้านในของวัด จะเป็นอุโบสถหลังใหญ่ที่เปิดให้ทุกคนเข้าไปกราบสักการะพระประธานด้านในได้ตลอดทั้งวัน โดยช่วงเช้าและช่วงเย็นจะมีการสวดมนต์ของพระสงฆ์เป็นประจำทุกวัน
นอกจากนี้ยังมีลานกว้างใต้ต้นโพธิ์ที่เปรียบเสมือนการจำลองสถานที่จากพุทธคยา โดยจะมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ตระหง่าน ร่วมถึงมีพระพุทธเมตตา จำลอง ขนาดเท่าองค์จริง เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะบูชา
สำหรับผู้ที่เดินทางไปยังพุทธคยา ด้านหลังของอาคารที่พักหลังเก่ายังมีอาคารที่เป็นเหลือห้องอาหารสำหรับทุกคนที่เดินทางมาพุทธคยาแห่งนี้ด้วย “อู่ข้าว” โดยทางวัดจะเตรียมอาหารไว้สำหรับทุกคน ทุกมื้อ ช่วงเช้าประมาณ 7:00 – 8:30 น., ช่วงกลางวัน ประมาณ 11:30 – 13:30 น., และช่วงเย็น ประมาณ 18:00 – 20:00 น.
หลังจากตรวจสอบสถานที่บริเวณวัดไทยพุทธคยา ผมใช้เวลาในช่วงสั้นๆกับการออกไปสำรวจบริเวณด้านนอกวัดไทยพุทธคยา สภาพบ้านเมืองที่อาจจะดูไม่คุ้นตาสำหรับคนที่เคยไปพุทธคยาครั้งแรกของผมก็ทำให้ผมตื่นเต้นได้พอสมควร
คำแนะนำแรกสำหรับการใช้ชีวิตในพุทธคยา ผมแนะนำให้ซื้อผ้าปิดจมูกเพราะฝุ่นค่อนข้างเยอะเนื่องจากถนนยังมีดินลูกรัง สำหรับผู้ที่เป็นภูมิแพ้อาจจะมีปัญหาได้
ร้านขายของริมถนนมากมาย ทั้งของกิน สินค้าประเภทต่างๆ ถูกจัดเรียงแบบง่ายๆระหว่าง 2 ข้างทาง ราคาของสินค้าก็สามารถต่อรองได้ตามสมควร
ช่วงบ่าย 3 โมงเย็นคณะผมมีนัดกันเพื่อจะเดินทางไปยังมหาเจดีย์พุทธคยาซึ่งอยู่ห่างจากวัดไทยออกไปประมาณ 500 เมตร คำแนะนำของไกด์ขอให้เก็บมือถือไว้ที่ห้องพักเนื่องจากจะมีการตรวจค่อนข้างเข้มงวดจากเจ้าหน้าที่ เพราะไม่อนุญาตให้นำโทรศัพท์มือถือเข้าไปด้านในได้
สำหรับกล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายวิดีโอสามารถนำเข้าไปได้ โดยจะต้องเสียค่าบัตรสำหรับกล้องถ่ายรูป 100 รูปี และกล้องถ่ายวิดีโอ 300 รูปี ต่อ 1 เครื่อง (ค่าเงินโดยประมาณ 2 รูปีเท่ากับ 1 บาท)
ผมใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงกับการเดินทางโดยรอบบริเวณ เพราะพิธีถวายไม้ค้ำกิ่งต้นศรีมหาโพธิ์ของคณะผมจะเริ่มต้นประมาณ 17:30 น.
คณะเราเริ่มพิธีกรรมด้วยการเดินรอบเจดีย์พุทธคยา 3 รอบเพื่อถวายผ้าพันต้นศรีมหาโพธิ์ ก่อนจะเข้าพิธีทางสงฆ์ด้วยการสวดมนต์โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จึงจะเริ่มทำพิธีถวายไม้ค้ำต้นศรีมาโพธิ์ซึ่งเป็นการค้ำกิ่งของต้นโพธิ์เพื่อให้แข็งแรงมากขึ้น
เสร็จสิ้นจากพิธีกรรมต่างๆ เรายังใช้เวลาเพื่อชมบริเวณโดยรอบอีกระยะ โดยผมตั้งใจว่าจะใช้เวลาพรุ่งนี้ในช่วงบ่ายในการมาเดินสักการะ 7 สถาน ที่พระพุทธเจ้าทรงใช้เพื่อพิจารณาในเรื่องต่างๆ เป็นเวลาที่ละ 7 วัน รวม 49 วันหลังการตรัสรู้
Tags: buddha, manageronline, mblog, mgronline, pdhirapat, ทอดผ้าป่ามหากุศล, ประเทศอินเดีย, พระพุทธเจ้า, พุทธ, พุทธคยา, ศาสนาพุทธ, อินเดีย
This entry was posted on Thursday, December 3rd, 2015 at 5:01 pm and is filed under Uncategorized. You can follow any responses to this entry through the RSS 2.0 feed. Responses are currently closed, but you can trackback from your own site.
Comments are closed.