เธอ…ผู้โดนทอดทิ้ง
เรื่องสั้น : โดย ชาลี
ห า ก เ ป็ น เ ธ อ ที่ ถู ก ท อ ด ทิ้ ง เ ธ อ จ ะ รู้ สึ ก อ ย่า ง ไ ร…?
.
“ยายหนิงทำหน้ามันอีกแล้ว ดูซิเผลอแป๊บเดียว”
คำพูดกระเซ้าเย้าแหย่กับหญิงชรานั้น เป็นเสียงพูดอย่างอารมณ์ดีของพยาบาล
ผู้ี่มีหน้าที่ดูแลยายหนิง หญิงชราผู้ป่วยหนัก เธอกำลังเช็ดน้ำลายที่ยายหนิงพ่นออกมา
จนเลอะเต็มหน้า ด้วยอวัยวะเกี่ยวกับระบบการกลืนไม่ทำงาน
ยายหนิง อายุกว่า ๘๐ นอนจมความเจ็บป่วยอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐ
มากว่า ๔ ปี
ยายไม่มีลูก ไม่มีหลาน ไม่มีญาติมาเยี่ยม มาหา มาดูแล
วันนี้…ยายหนิงต้องรับอาหารผ่านสายยาง ที่สอดใส่ไว้ตรงช่องจมูก
ยายหนิงมองเห็น แต่พูดไม่ได้แล้ว มีแผลกดทับที่ก้นเหวอะหวะ
เวลาทำแผลทีก็ต้องใช้เวลานานกว่า ๒ ชั่วโมง
มีสายยางเล็ก ๆ จ่อไว้ที่ปาก เพื่อดูดน้ำลาย
ที่ไหลย้อยของยาย
แต่มันก็ยังล้นทะลักออกมาเลอะเทอะเต็มหน้า เต็มที่นอน
การขับถ่ายต้องต่อท่อออกมาขับถ่ายทางสายยางมีถุงของเสียงห้อยไว้ที่เตียง
คนไข้มากหน้าหลายตา ต่างเีวียนเข้าเวียนออกมาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล
กระทั่งเวียนกลับมารักษาตัวใหม่อีกครั้ง ยายหนิงก็ยังคงอยู่ในสภาพนั้น
วันไหนพยาบาลมีคนไข้ไม่มาก งานไม่หนักเกินไป
ก็มีโอกาสได้เวียนมาพูดคุยกับยายหนิงได้บ้าง
ได้จับตัวยายให้พลิกซ้ายบ้าง ขวาบ้าง
…กระนั้น แผลกดทับ
ที่ส่งกลิ่นเน่า และดวงตาแห้งแล้ง ไร้ชีวิตนั้น
มันบ่งบอกที่ความอ้างว้างที่เกาะกุม
ในจิตใจ
วันนี้ ยายหนิงนอนเหยียดตรงเหมือนคนปกติไม่ได้แล้ว
ร่างกายของยายงอเหมือนกุ้ง พยาบาลพยายามช่วยจับยืดอย่างไรก็ยืดไม่ได้
—บั้นปลายชีวิตของยายหนิง คือที่เตียงคนไข้ หมายเลข ๑๙ เตียงนั้น…!
—กับรอยเคว้งคว้างในดวงตา
คุณย่ามล อายุกว่า ๙๐ ผมขาวโพลน มีรถวิลแชร์เป็นพาหนะคู่กาย
เพื่อพาตัวเองไปในที่ต่างๆ ทุกซอกทุกมุมของโรงพยาบาลเอกชนมีชื่อแห่งหนึ่ง
๗ ปีแล้วที่คุณย่ามล มานอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนี้
ช่วงเดือนแรก ญาติพี่น้องต่างแวะเวียนมาเยี่ยม มาดูแลอย่างใกล้ชิด
พอนานวัน ต่างพากันห่างหาย พี่น้องเคยใกล้ ก็เริ่มไกลตา
ลูกๆ หลานๆ
ที่เคยผลัดเปลี่ยนกันมาหา เริ่มเว้นระยะห่าง
จากทุกวันเป็นทุกสัปดาห์ จากทุกสัปดาห์เป็นเดือนละครั้ง
ที่สุด…ลูกของคุณย่ามลได้ใช้วิธีโอนเงินเข้าบัญชีของโรงพยาบาลทุกๆ เดือน
โดยบอกว่า มีภาระการงานต้องดูแล–จนไม่อาจปลีกเวลามาดูแลแม่บังเกิดเกล้า
คุณย่ามลจึงมีเงินเป็นลูกที่คอยดูแลเป็นรายเดือน
ทุกๆ วัน จะมีพยาบาลมาคอยพูดคุยกับคุณย่ามล
หากเบื่อนักคุณย่าก็พาตัวเองพร้อมรถวิลแชร์ออกมาทักทายคนในโรงพยาบาล
จนเป็นที่คุ้นเคยกันดี
ราวกับว่านี่คือบ้านของเธอ
“หนูอุ้ม วันนี้คนไข้เยอะ คงเหนื่อยสินะ”
“สวัสดีค่ะ คุณย่ามล แน่ะวันนี้แวะมานี่ได้ จะไปไหนคะนี่”
ใบหน้าที่ยิ้มแย้ม มีเมตตา ตามแบบอย่างผู้ใหญ่ใจดี
หากไม่สังเกต
จะไม่เห็นรอยเคว้งคว้างที่ซ่อนอยู่ในดวงตาคู่นั้นของเธอเลย
—บั้นปลายชีวิตของคุณย่ามล…แน่นอน…เหลือเกินว่า
—คือ เตียงนอนอันแสนสบายในห้องคนไข้พิเศษของโรงพยาบาล
—พร้อมแววตาอันอ้างว้าง
—รอยเคว้งคว้างในแววตาของยายหนิงและคุณย่ามล เป็นแววตาชนิดเดียวกัน
วังเวง เคว้งคว้าง
อ้างว้าง ห่างเหิน
เลือนราง หมางเมิน
เจ็บเกิน เอ่ยคำ…
“ชาลี” เขียน
๑๕ กันยายน ๒๕๕๒


Photo : Chalee || Writer : Chalee || Location : ฺฺNakhonpathom || Olympus 510 UZ digital Camera
เศร้าจังค่ะ…
เหรียญมีสองด้าน ทุกชีวิตต่างมีเหตุผลเป็นของตัว มีกรรมเป็นของตน ยายมีกรรม ลูกหลานมีกรรม พยาบาลละเลยจนยายเป็นแผลกดทับ ก็มีกรรม
เจ็บเกิน เอ่ยคำ
สังคมเปลื่ยน ฤ คนเปลื่ยน…ชวนให้ฉงน
” เจ็บเกิน เอ่ยคำ… ”
อ่านกลอนสี่บรรทัดในภาพและตอนจบแล้ว
รู้สึกคำว่า “เจ็บ” มันเจ็บลึกสุดใจเลยค่ะ
….
ชาลี เป็นงัยมั่งคะ
ดีขึ้นแล้วใช่มั๊ยคะ ขอให้ดีขึ้น ๆๆๆๆๆ นะคะ ^^
ไม่เข้าใจคนที่เป็นลูกเหล่านั้นเหมือนกันนะ
ไม่แน่ .. วันนึงที่พวกเขาแก่ตัวลง พวกเค้าอาจจะได้คิดละมั้ง
ว่าความ ‘เคว้งคว้าง’ มันทรมานแค่ไหน
พักผ่อนมากๆ นะคุณเพื่อนสาว
..เช้าเสาร์จ่ะเอามาฝากแม่เม้ยจ่ะ
เผื่อยายหนิงแม่มลด้วยละกันนาแม่เม้ยขา
ชะเอิงเอยนะคะ :)มายด์เม้ยที่รัก
อืมม…
แก่ตัวไป…พี่จะเป็นเหมือนยายหนิง กะย่ามลหรือเปล่าน้อ…
ที่เคยคิดไว้ว่าจะหิ้วประเป๋าเข้าบ้านพักคนชรากะเพื่อนๆ คงต้องเกาะกลุ่มกับเพื่อนให้แน่นหนาซะละ ไม่งั้น…เหงา อ้างว้าง เหว่ว้า เหมือนยายหนิงกะย่ามลแน่เลยชาลีจัง