วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม
.
โรงเรียนแรกของชีวิต คือบ้าน แต่ที่แรกสำหรับการศึกษาของคนไทย มิใช่โรงเรียน แต่หมายถึง วัด สังเกตง่ายๆว่า ที่ใดมีวัด ที่นั่นย่อมมีโรงเรียนอยู่ใกล้เคียงกัน ซึ่งก่อนหน้านั้น โรงเรียนก็เคยอยู่ในวัดมาก่อน ทุกวันนี้ภาพของโรงเรียนวัด อาจหาดูได้ยาก จะมีก็แต่ในส่วนการศึกษาของผู้บวชเรียน ซึ่งต่างจากอดีต ที่ใครก็เข้ามาเรียนในวัดได้
ภาพของการศึกษาระบบใหม่เข้ามาแทนที่ พร้อมความก้าวหน้ามากมาย แต่ในอดีตนั้น เครื่องมือสำหรับการศึกษาหาได้ยากเย็นยิ่ง เช่นเดียวกับสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งยังไม่มีการพิมพ์หนังสือเพื่อการศึกษา ส่วนโรงเรียนวัด ก็ใช่ว่าทุกคนจะได้เรียนเสมอกัน พระองค์ท่านรัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมและเลือกสรรตำรามาจารึกที่แผ่นศิลาไว้โดยรอบวัด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมทำการศึกษาหาความรู้ วัดแห่งนี้ จึงได้ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย”
การศึกษามหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย โดยเมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ ๓ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมสรรพวิชาแขนงต่าง ๆ จารึกลงบนศิลาจารึกหรือแผ่นศิลา รวมทั้งได้ปั้นฤๅษีดัดตน ประดับไว้ภายในบริเวณวัด ซึ่งอาจจะแบ่งความรู้ต่าง ๆ ออกได้เป็น ๘ หมวด ได้แก่ หมวดประวัติการสร้างวัดพระเชตุพนฯ หมวดตำรายาแพทย์แผนโบราณ หมวดอนามัย หมวดประเพณี หมวดวรรณคดีไทย หมวดสุภาษิต หมวดทำเนียบ(จารึกหัวเมืองขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น) และหมวดพระพุทธศาสนา โดยเมื่อเทียบในปัจจุบันอาจจะแบ่งออกเป็นคณะต่าง ๆ ดังนี้ คณะประวัติศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ (ไม่เป็นทางการ)