โอวาทปาติโมกข์
.
สมัยพุทธกาล ผ่านมา ครบ ๒๕๕๕ ปี “โอวาทปาติโมกข์” จากพระโอษฐ์ … ธรรมะแห่ง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงไว้ในคืนวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ยังเป็นธรรมะ
ที่อัศจรรย์ … ทันสมัยและไร้กาลเวลา
นับเป็นบุญ เป็นโชคที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาและเป็นพุทธศาสนิกชนนั้น มิใช่เรื่อง่าย …
บุญประการแรก ท่านต้องได้เกิดเป็นมนุษย์ มิใช่เดียรัจฉาน
บุญต่อมา คือได้เกิดหรือเติบโตในแผ่นดินที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง สืบทอดดำรงได้จนถีงโลก
ยุคใหม่ที่มีไม่กี่ประเทศในโลก หนึ่งในนั้นคือแผ่นดินสยาม
แผ่นดินร่มเย็นที่องค์พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐ ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก พระองค์ทรงมุ่งมั่น
น้อมนำคำสอนขององค์พระศาสดามุ่งทะนุบำรุง เผยแผ่แก่ปวงชนชาวไทย ทั้งในพระราชดำรัส
และพระบรมราโชวาส ในต่างวาระ อย่างต่อเนื่องมิได้ขาด
… บุญประการสุดท้าย .. มีความเลื่อมใสศรัทธา และพากเพียร ปฏิบัติบูชาในพระธรรมคำสอน
อัศจรรย์วันเพ็ญ เดือนมาฆะ
ย้อนศตวรรษกลับไปเมื่อ ๒๕๕๕ ปีมาแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในครั้งนั้นได้ตรัสรู้มา
เป็นเวลา ๙ เดือน ได้ทรงเสด็จไปประทับ ณ เวฬุวนาราม เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เกิดอัศจรรย์
พระอรหันต์ จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ได้แก่ พระอรหันต์ที่อยู่ในคณะของพระอุรุเวลกัสสปเถระ
พระนทีกัสสปเถระ และพระคยากัสสปเถระ รวม ๑,๐๐๐ รูป กับพระอรหันต์ที่อยู่ในคณะของ
พระสารีบุตรเถระ และพระโมคคัลลานะเถระ ๒๕๐ รูป รวมทั้งสองคณะเป็น ๑,๒๕๐ รูป ได้พร้อมกัน
ไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมาย …
การมาชุมนุมของพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าในครั้งนี้นับเป็นนิมิตหมายอันดี สมัยพุทธกาล
เรียกเหตุการณ์นั้นว่า “จาตุรงคสันนิบาต” ประกอบด้วย องค์ ๔ คือ
๑.พระอรหันตสาวก จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาชุมนุมพร้อมกัน ณ เวฬุมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
๒.พระอรหันตสาวกเหล่านั้นล้วนเป็นพระภิกษุที่พระพุทธเจ้าทรงอุปสมบทให้ด้วยพระองค์เอง (เอหิภิกขุ)
๓.พระอรหันตสาวกเหล่านั้นมาชุมนุมโดยมิได้นัดหมาย
๔.วันนั้นตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓ วันมาฆบุรณมีบูชา)
ในกาลนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นเป็นนิมิตอันดี จึงได้เสด็จท่ามกลางพระสงฆ์
เหล่านั้น และพระพุทธองค์ได้ทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” ในที่ชุมนุมใหญ่แห่งพระอรหันต์สาวก
ในคืนพระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์หรือ ‘วันมาฆะบูรณมี'
โอวาทปาติโมกข์ สรุปคำสอนในพระพุทธศาสนาทั้งปวงให้สั้นและเข้าใจ ใน “พุทธโอวาท ๓”
กล่าวคือ เป็นหัวใจและหลักแห่งพระพุทธศาสนา เพื่อทรงใช้ในการประกาศพระพุทธศาสนา
สำหรับพระสาวกสืบไป
คำสอนพระศาสดา ผ่านมา ๒๕๕๕ ปี พุทธศาสนิกชนได้ สืบทอดโอวาทปาฏิโมกข์ แม่แบบในการ
ประพฤติปฏิบัติที่พระองค์ได้ทรงแสดงจากพระโอษฐ์ มีสารัตถะดังนี้
๑. การไม่ทำความชั่วทั้งปวง : สพฺพปาปสสฺ อกรณํ
๒. การบำเพ็ญความดีให้เพียบพร้อม : กุสลสฺสูปสมฺปทา
๓. การทำจิตของตนให้ผ่องใส : สจิตฺต ปริโยทปนํ ….
ในครั้งนั้น พระตถาคตทรงตรัสโอวาทปาฏิโมกข์เป็นพระคาถา รวม ๓ พระคาถาครึ่ง
๏ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ
๏ สพฺพปาปสฺส อกรณํ
กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ
เอตํ พุทฺธานสาสนํฯ
๏ อนูปวาโท อนูปฆาโต
ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ
ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค
เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ
ความแปลในพระคาถาคือ
“ขันติคือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพานเป็นบรมธรรมอย่างยิ่ง
ผู้ทำร้ายผู้อื่น ผู้เบียดเบียนผู้อื่น
ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็น สมณะเลย
การไม่ทำบาปทั้งสิ้น ๑
การยังกุศลให้ถึงพร้อม ๑
การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
การไม่กล่าวร้าย ๑
การไม่ทำร้าย ๑
ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑
ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ๑
ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑
การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑
หกอย่างนี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”
…
พุทธศาสนิกชน ได้ยึดแนวคำสอนฯ เป็นทางสว่าง
สู่การดับทุกข์เข็ญ เป็นที่พึ่งผู้ทุกข์ ผู้ดับมืด
ให้เป็น “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน”
การสืบทอดคำสอนของพระพุทธองค์ เป็นธรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติบูชา
มิใช่เฉพาะในวันเพ็ญเดือนมาฆะ หากเป็นไปโดยสม่ำเสมอ
ตราบเท่าที่ยังดำรงตนป็นพุทธศาสนิกชน
…
สาธุ