Om Mani Padme Hum
.
. . .
“ตำนาน ไม่มีต้นฉบับ…”
รศ.ดร.ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวแก่ข้าพเจ้า เป็นอนุสติ
เมื่อท่านทราบ ข้าพเจ้าที่คร่ำครึ กำลังริจะย่างก้าวเข้าหาบางสิ่ง . . . ที่เรียก
“อุรังคนิทาน” . . .
มหากาพย์แห่งล้านนา ล้านช้าง
และทั่วแผ่นดินอีสาน
. . .
อย่าว่าแต่ กระทั่งยังไม่ทราบ ข้าพเจ้าสมควรเริ่มต้นจากที่ใด
แต่ข้าพเจ้าที่ไม่สู้มีโชค
โดยไม่ต้องซอกซอนไปถึงหอสมุดแห่งชาติ
กลับเสาะพบ “อุรังคธาตุ” ที่พิมพ์ขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2483 . . .
ที่ยอดเยี่ยม คือเขายังเป็นไฟล์ ฟอร์แมท PDF
ควรทราบว่า การสแกนหนังสืออายุกว่า 70 ปี ด้วยสายตา ต้องไม่ใช่เรื่องราวอันน่าเพลิดเพลินเท่าไร
จึงด้วยความยินดี
ข้าพเจ้าเร่งเปิดอ่าน . . . ปรากฏเห็น เป็นข้อความเช่นนี้
อุรังคธาตุ
(ตำนานพระธาตุพนม)
——
ที่ระลึก
ในงานพระราชทานเพลิงศพ
อ.ต. หลวงประชุมบรรณสาร (พิณ เดชะคุปต์)
วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2483
ณสุสานวัดมกุฏกษัตริยาราม
คำนำ
นางสาวถนอม เดชะคุปต์ มาแจ้งความขอให้กรมศิลปากรช่วยเลือก
หาเรื่องที่สมควรพิมพ์เป็นที่ระลึก
ในงานพระราชทานเพลิงศพ อ.ต. หลวงประชุมบรรณสาร (พิณ เดชะคุปต์) ผู้บิดา
กรมศิลปากรแนะนำให้พิมพ์เรื่อง อุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม)
เป็นหนังสือที่เกี่ยวเนื่องทางพระพุทธศาสนา และตำนานบ้านเมือง ประกอบกัน
นางสาวถนอม เตชะคุปต์ ก็พอใจตามคำแนะนำ
ตำนานพระธาตุพนม เคยพิมพ์มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่เป็นฉะบับสังเขป
ส่วนฉะบับนี้
ได้ความตามท้ายเรื่องว่า อาชญาเจ้าพระอุปราช พร้อมด้วยบุตรภรรยา
ให้จำลองจากฉะบับโบราณ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2404
เป็นหนังสือใบลานอักษรไทยที่เคยใช้แถบเหนือ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ได้ฉะบับนั้นมาประทานไว้สำหรับหอสมุดแห่งชาติ
ตั้งแต่ พ.ศ. 2464
กรมศิลปากรให้นายสุด ศรีสมวงศ์ และนายทองดี ไชยชาติ เปรียญ ถ่ายออกจากสำนวนเดิม
เรียบเรียงพอให้อ่านเข้าใจได้ทั่วไป
มีข้อความแปลก และพิสดารกว่าฉะบับที่เคยพิมพ์มาแล้วบ้าง
จึงให้ชื่อฉะบับพิมพ์ครั้งนี้ว่า อุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม)
หวังว่าบรรดาผู้รับ คงยินดีทั่วกัน
กรมศิลปากรขอโมทนากุศล
ที่เจ้าภาพและญาติมิตร บำเพ็ญอุทิศแด่หลวงประชุมบรรณสาร
เป็นอนุปทานหวังเพิ่มพูนหิตานุหิตประโยชน์ และสิ่งต้องประสงค์อันปราศจากโทษ
ในสัมปรายภพทุกประการ
กรมศิลปากร
3 เมษายน 2483
. . .
อุรังคธาตุ
ตำนาน พระธาตุพนม
———–
นโม พุทธาย จักกล่าวยังอุรังคธาตุนิทาน ปาทลักษณนิทาน ศาสนานครนิทาน
อันพระอรหันต์ทั้ง 5 องค์ แปลไว้ให้แจ้งแก่นักปราชญ์เจ้าทั้งหลาย
นิทานอันนี้ พระพุทธเจ้าทรงทำนายปลายเมือหากก1
บุคคลผู้มีปัญญาจึงค่อยพิจารณาดูอธิบายให้แจ้งเทอญ
เมื่อพระพุทธเจ้ายังธรมานอยู่สำราญในเชตะวันอารามยามใกล้รุ่ง
เจ้าอานนทอุปฐากด้วยน้ำและไม้สีฟัน
เมื่อพระพุทธเจ้าเมี้ยน2กิจชำระแล้ว
หลิง3เห็นโบราณประเพณีแห่งพระพุทธเจ้าทั้งสามพระองค์ ที่เสด็จเข้าสู่พระนิพพานไปแล้ว
ทรงไว้ยังธาตุในดอยกัปปนคีรีอันมีในที่ใกล้เมืองศรีโคตรบอง . . .
——————————-
1 ต้น,โคน 2 สำเร็จ 3 เล็ง
ครั้นอ่านถึงตรงนี้
จิตใจข้าพเจ้าพลอยปีติแช่มชื้นขึ้นมาบ้าง
ด้วยบางถ้อยคำภาษาแปลกๆ นั้น ที่แท้ ใช่ภาษาของข้าพเจ้าเอง
คำ . . .
เมือ แปลว่ากลับ
กก แปลว่าเริ่มต้น
เมี้ยน แปลว่า จัดแจง
และ
“ศรีโคตรบอง” ก็ยังไม่ใช่ชื่อบ้านข้าพเจ้าแต่ปางบรรพ์นั่นหรอกหรือ?
. . .
ยังมีอีกเกือบ 200 หน้า . . .
ท่านผู้ใดนำพาใส่ใจจะค้นคว้า ย่อมสามารถดาวน์โหลดหนังสือ “อุรังคธาตุ” ได้เอง
ที่ http://www.mediafire.com/?62br068jujrorlu
เรียนตามสัตย์,
ต่อให้ข้าพเจ้านึกอยากคัดลอกมาทั้งหมดทั้งสิ้น
แต่กับบางถ้อยคำในนั้น ข้าพเจ้าก็ยังรู้สึก ตนเองไม่มีความกล้าหาญเพียงพอ
ในส่วนมนตราที่โปรยไว้แต่ต้น
ก็โดยเหตุที่เร่ร่อนสืบเสาะไปในที่ต่างๆ บนโลกไซเบอร์อันไพศาล โดยคำ Buddha . . .
เผอิญพบเรื่องราวเช่นนี้
ผู้ใดจะอ่านสักนิดหรือไม่ ก็สุดแต่หัวใจศรัทธา . . .
. . .